วันหน้าจะมาเล่าเรื่อง แผ่นดินไหว รินจานี ให้ฟังกันอย่างละเอียดนะครับ หลังจากออกจากพื้นที่แผ่นดินไหว้ได้แล้วก็ได้มีโอกาสเข้าไปพักใน เมืองลอมบอง น้องนนท์หัวหน้าทีมก็ได้พาไปเที่ยวหลายแห่ง

เผื่อท่านใดสนใจก่อนหน้านี้ผมเคยได้รับการสัมภาษณ์จากทีมงานเว็บไซต์กระปุกครับ https://hilight.kapook.com/view/176045 

ตอนจะออกจากลอมบอกต้องมาต่อเครื่องที่กัวลาลัมเปอร์เลยได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในทะเลสาบท่านหนึ่งครับ พอดีน้องเขานั่งเก้าอี้ข้าง ๆ และก็จะเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมกัน เห็นว่าเรื่องราวที่น้องเขาาถ่ายทอดประสบการณ์มาน่าสนใจ ก็เลยถือโอกาสแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันครับ เพราะก่อนหน้านี้ได้ยินมาว่าข่าวแผ่นดินไหวส่วนใหญ่มักจะมาจากการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยที่วิ่งลงมาจากเขา ไม่ค่อยได้เห็นคนที่อยู่ในทะเลสาบเล่าเรื่องกันสักเท่าไร (หรืออาจจะเสิร์ชหาไม่เจอ อันนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ)

น้องเขาเล่าว่าตอนที่เกิดแผ่นดินไหวกำลังอยู่ตรงหน้าเต๊นท์ใกล้ทะเลสาบพอดี ตอนมองขึ้นไปบนยอดเขาก็เห็นดินบนเขาถล่มลงมาจนคิดว่าน่าจะมีคนเสียชีวิต (ขณะที่กำลังเล่าอยู่ยังมีไม่รายงานสรุปจำนวนผู้เสียชีวิตในอุทยานฯ) ผมก็เลยบอกไปว่าไม่น่าจะมีใครเสียชีวิต ทุกคนคงวิ่งลงมาข้างล่างกันทันครับ

ได้คุยกับน้องคนหนึ่งที่ติดอยู่ในทะเลสาบ รินจานี
กำลังขึ้นเครื่องเพื่อที่จะไปต่อที่มาเลเซีย

ก็เลยถือโอกาสถามน้องเขาต่อว่าเหตุการณ์บริเวณทะเลสาบในช่วงแผ่นดินไหวเป็นอย่างไรบ้าง น้องก็นั่งนึกไปสักพักแล้วก็เริ่มร่ายยาว

พี่รู้ไหมว่าตอนแผ่นดินไหวน้ำในทะเลสาบมันลดลงไปนะ พวกเราที่นั่นก็เลยได้รู้ว่าใต้ทะเลสาบยังมีปล่องภูเขาไฟอีกหลายปล่องเลย ตอนแรกก็กลัว ๆ กันว่ามันจะปะทุและพ่นลาวาขึ้นมาหรือเปล่า แต่สักพักน้ำในทะเลสาบก็ค่อย ๆ เพิ่มระดับขึ้นมาจนเป็นปกติ แล้วก็มีของแถมมาให้ด้วยนะครับ ปลาในทะเลสาบเหมือนจะงง ๆ ลอยขึ้นมาให้ไกด์อินโดฯ จับเอาได้ง่าย ๆ (คิดว่าเขาคงมาจับกันหลังจากนั้น เพราะตอนดินถล่มคงไม่มีใครมีอารมณ์มาจับปลากันแน่)

 

อย่างที่เคยเล่าให้ฟังไปก่อนหน้านั้นว่า พอดินถล่มก็ทำให้เส้นทางที่ลงไปหรือออกจากทะเลสาบเสียหายไปด้วย สภาพเส้นทางก็เปลี่ยนไปจากเดิมจนไกด์ไม่กล้าที่จะตัดสินใจพานักท่องเที่ยวออกมา ในวันนั้นตอนหัวค่ำทุกคนก็มาปรึกษาหารือกันว่าจะหาทางออกไปกันอย่างไร และกลุ่มหลักที่เป็นคนตัดสินใจก็คือไกด์อินโดฯ ที่มีอยู่ราว ๆ ยี่สิบคน น้องเขาเล่าว่าเป็นการประชุมที่ตึงเครียดเอามาก ๆ

 

ในช่วงของการหารือมีใครสักคนเสนอว่าให้รอทางการมาช่วยเหลือด้วยวิธีเอาเฮลิคอปเตอร์แบบลอยน้ำได้ลงจอดกลางทะเลสาบแล้วทยอยรับคนขึ้นไป แต่ไกด์อินโดฯ บอกว่าวิธีนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่พยายามจะใช้ ฮ. มารับคนในลักษณะเดียวกันแต่ไม่ได้ผล อีกอย่างถ้าให้รอทางการมาช่วยเหลือก็ไม่รู้ว่าจะมาช่วยเอาตอนไหน เนื่องจากรอบ ๆ อุทยานก็มีชุมชนที่ประสบภัยพิบัติที่กำลังต้องการความช่วยเหลือจากทางการอยู่ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญก็คือการรอนาน ๆ ไม่เป็นผลดีแน่เพราะไม่รู้ว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อคอีกหรือเปล่า และไม่มั่นใจด้วยว่าภูเขาไฟจะปะทุหรือเปล่า (อันหลังนี่เราฟังแล้วก็อึ้งไปเหมือนกัน)

 

สรุปคือในตอนเช้าไกด์อินโดฯ จะส่งคนไปสำรวจเส้นทางให้เร็วที่สุด (ปกติจะมี 2 เส้นทาง คือ เส้นทางที่เข้ามาและเส้นทางที่ใช้ออกจากทะเลสาบ) ถ้าเส้นทางใดใช้ได้ไกด์ก็จะอพยพทุกคนออกจากทะเลสาบทันที

 

น้องเขาเล่าต่อว่าในคืนนั้นเหมือนเวลามันนานมาก การนอนรอวันรุ่งขึ้นเป็นอะไรที่ยาวนานจริง ๆ ระหว่างนอนแผ่นหลังก็สัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนตลอดเวลา อารมณ์มันจะคล้าย ๆ เก้าอี้นวดหลังอะพี่ หูก็ยังต้องได้ยินเสียงดินถล่มอยู่เป็นระยะ ๆ บั่นทอนสุขภาพจิตพอสมควร เอาเป็นว่าคืนนั้นทั้งคืนทุกคนคงนอนกันไม่หลับ

ได้คุยกับน้องคนหนึ่งที่ติดอยู่ในทะเลสาบ รินจานี
เล่าถึงเหตุการณ์ในทะเลสาบ

พอรุ่งขึ้นไกด์อินโดฯ มาบอกข่าวดีว่าเส้นทางที่ใช้เดินลงจากเขาเข้ามาทะเลสาบยังพอใช้เป็นช่องทางออกไปได้ ไกด์อินโดฯ จึงเริ่มวางแผนการอพยพในทันที สิ่งแรกที่ไกด์บอกคือของชิ้นไหนที่ไม่สำคัญให้ทิ้งไปให้หมด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแบกน้ำหนัก เวลาเดินขึ้นเขาจะได้ไปได้เร็วขึ้น อ้อ ลืมบอกไปครับว่าเส้นทางสามารถใช้งานได้ก็จริงแต่สภาพมันได้เปลี่ยนไปเรียบร้อยแล้ว คือมันชันกว่าเดิมนั่นเองครับ

 

เนื่องจากบางช่วงของเส้นทางมีความเสี่ยงที่ดินจะถล่ม ไกด์อินโดฯ เลยแบ่งผู้อพยพทั้งสองร้อยกว่าคนออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ จากที่น้องเขาเล่า ไกด์ได้จัดผู้ประสบภัยเป็นกลุ่มละสิบหรือยี่สิบคน (จำนวนนี่ผมจำไม่ได้แน่ชัดครับ) โดยจะมีไกด์คอยเป็นผู้นำทางในกลุ่ม ด้วยความที่ทุกคนอยากออกไปจากที่นั่นให้เร็วที่สุด ตอนขึ้นจากทะเลสาบจึงออกแรงเดิน (วิ่ง) กันแบบจัดเต็มมาก น้องเขาเล่าว่าขึ้นกันเร็วมากและใช้เวลาน้อยกว่าขาลงเสียอีก

 

ไกด์อินโดฯ ก็ทยอยปล่อยผู้ประสบภัยไปทีละชุด พอออกมากันหมดแล้วก็รีบลงจากเขามาอีกด้านหนึ่งในทันที เส้นทางเดินลงจากเขาเป็นเส้นทางเดิมกับทางที่ขึ้นมานั่นแหละครับ ทางเส้นนี้จะต้องผ่านจุดตั้งแคมป์ที่เคยพักกันก่อนหน้าที่จะลงไปทะเลสาบ แต่ตอนนี้ไม่มีใครอยู่แล้วเพราะหนีลงไปกันหมด จะเหลือก็แต่ซากเต๊นท์ ขยะ และของบางอย่างที่ถูกทิ้งเอาไว้

 

ตอนนี้สิ่งที่ทุกคนต้องการมากที่สุดก็คือน้ำครับ เข้าใจว่าก่อนขึ้นจากทะเลสาบคงพกติดตัวกันมาไม่มากเนื่องจากต้องการลดน้ำหนัก พอมาถึงที่แคมป์ทุกคนก็กระจายกันออกค้นหาน้ำที่นักท่องเที่ยวชุดก่อนน่าจะทิ้งเอาไว้บ้าง และเป็นความโชคดีที่มีทิ้งไว้จริง ๆ เต็มขวดบ้าง เหลือติดก้นขวดบ้างแต่ก็ได้แบ่งกันดื่มทุกคน

พอเล่ามาถึงตรงนี้น้องเขาก็มีแววตาประทับใจ ผมฟังผมก็ประทับใจนะครับ คือมีน้ำเท่าไรทุกคนก็แบ่งกัน น้องเขาก็ตบท้ายว่าพอผู้ประสบภัยเดินไปถึงจุดที่ไกด์บอกว่าเป็นfจุดพักที่ปลอดภัย (น่าจะเป็นจุดที่เรียกว่า POS 2 ) ก็พบว่ามีคนมารอรับอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยกู้ภัย นักข่าวที่มารอสัมภาษณ์จากหลายสำนัก และยังมีเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซียรออยู่ด้วย ว่าแล้วน้องเค้าก็เปิดรูปที่ถ่ายมาให้ดูครับ

 

เรื่องที่เล่าทั้งหมดมาจากความจำครับผม อาจจะมีตกหล่นหรือไม่ครบถ้วนไปบ้าง ถ้าพบว่ามีบางเหตุการณ์ขาดหายไปหรือไม่ถูกต้องก็ต้องขออภัย และยินดีที่จะแก้ไขให้ถูกต้องครับผม

Comments

comments

Comments are closed.