ช่วงนี้ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน ก็เลยลองค้นหารูปเก่าๆดู เผื่อจะได้นำมาเขียนบล็อคเล่าให้เพื่อนๆได้อ่านกัน ในเครื่องมีรูปอยู่หลายโฟลเดอร์เลยที่ยังไม่ได้นำไปเขียน ก็นั่งดับเบิ้ลคลิกไปเรื่อยๆ และก็เจอรูปอยู่โฟลเดอร์หนึ่งที่ตั้งใจว่าจะนำมาเขียนในบล็อกนานแล้ว เป็นรูปจากโทรศัพท์มือถือที่ผมถ่ายไว้เมื่อกลางปี 2006 ครับ

ยายมั่น และ ยายหวัน ทั้งสองท่านไม่อยู่แล้วนะครับ

ตอนนั้นกลับไปเยี่ยมยายและหลวงลุงที่บ้านเกิด อำเภอบึงกาฬ (เป็นจังหวัดบึงกาฬ แล้ว) และนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้เจอยาย เพราะถัดมาตอนปลายปีท่านก็เสียชีวิตลงด้วยโรคชรา

บึงกาฬ เป็นจังหวัดไม่ใหญ่มาก ผู้คนที่นั่นจึงค่อนข้างจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี บางทีเราก็จะเห็นผู้คนตะโกนทักทายกันด้วยมิตรไมตรีอยู่บ่อยๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของที่นี่ครับ

คนบึงกาฬ ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะปลูกยางพารา ปัจจุบันพืชพาณิชย์ชนิดนี้กำลังเริ่มจะเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆของเกษตรกรชาวบึงกาฬครับ และผมก็ได้ยินได้ฟังมาเหมือนกันว่า บึงกาฬเป็นจังหวัดที่ให้ผลผลิตยางพาราเยอะที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอิสานครับ จะอย่างไรก็ตาม ข้าวก็ยังเป็นผลผลิตทางการเกษตรอันดับหนึ่งอยู่ดี เพราะจากที่นั่งรถผ่านผมก็ยังคงมีนาข้าวให้เห็นอยู่เยอะเหมือนแต่ก่อน

การเดินทางไปบึงกาฬนั้นก็ไม่ยุ่งยากครับ นั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯถึงบึงกาฬใช้เวลา 8 – 9 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย ถ้าใครจะเดินทางด้วยรถไฟไปหนองคายก่อนแล้วค่อยต่อรถทัวร์ไปบึงกาฬก็ได้ หรือจะนั่งเครื่องบินไปลงอุดรฯ แล้วค่อยต่อรถทัวร์ไปบึงกาฬก็ได้เช่นกัน สุดแล้วแต่ใครจะสะดวก

วันแรกในบึงกาฬของผมก็มักจะนอนพักผ่อนอยู่ที่บ้านซะส่วนใหญ่ ช่วงกลางวันก็มักจะไม่ค่อยไปไหนครับ อยู่กับยายที่บ้านให้ท่านหายคิดถึง ได้ดูแลและพูดคุยกัน ส่วนใหญ่ผมก็จะนั่งฟังท่านพูดมากกว่า ผมว่าการคุยกับคนแก่ก็เพลินดีเหมือนกันนะ แม้จะไม่ได้กลับบ้านนานเป็นแรมปี แต่ก็ทราบเรื่องราวของคนที่นี่ได้ทั้งหมดจากยายผมนี่แหละ

พอตกเย็นก็ยืมมอร์เตอร์ไซด์น้าเขยไปขับเล่นชมบ้านชมเมืองและก็หาซื้อของกินเหมือนอย่างที่เคยทำ ขับรถเลาะชมริมโขงไปเรื่อยๆ มองไปเห็นฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง นั่นก็คือ มณฑลปากซัน ของสาธารณรัฐประชาชนลาวเพื่อนบ้านของเรานั่นเอง

ริมโขง ท่าบึงกาฬ ตรงข้ามคือ ปากซัน ของ สปป.ลาว

ขับไปจนกระทั่งสุดถนนที่ติดกับด้านหลังโรงเรียนวิศิษฐ์อำนวยศิลป์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ผมได้เล่าเรียนเมื่อครั้งประถมศึกษา โรงเรียนประถมที่นี่มีความทรงจำดีๆ มากมายครับ ถึงวันนี้ผมยังจำชื่อกับนามสกุลเพื่อนเก่าสมัยเรียนได้หลายคนทั้งที่ก็ผ่านมาตั้ง 23 ปีแล้วภ อากาศวันนี้ดีจัง นั่งกินบรรยากาศหลังโรงเรียนอยู่สักพักก็กลับบ้านครับ

โรงเรียน วิศิษฐ์อำนวยศิลป์ โรงเรียนประถมศึกษาของอำเภอเมืองบึงกาฬ

เหมือนกันทุกๆจังหวัดทางภาคอิสาน ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะนอนกันเร็วตื่นกันเช้า ผมก็เลยต้องทำตามไปด้วยภ เช้าวันรุ่งขึ้นยายบอกว่าเดี๋ยวสายๆก่อนเพลจะมีญาติโยมจากวัดหลวงลุงขับรถมารับไปหาหลวงลุงที่วัด ระยะทางจากบ้านถึงที่วัดหลวงลุงก็ไม่ไกลมากครับ ราวๆสามสิบกว่ากิโลเห็นจะได้ แต่ช่วงเช้าคงต้องขอเดินเล่นลาดตระเวณชมริมบึงหลังบ้านก่อน ที่ผมเห็นอยู่เกือบทุกวันตลอด 10 ปี และบึงแห่งนี้แหละคือที่มาของชื่อจังหวัดครับ บึงที่น้ำมีสีนิลใส ลึกลับ เค้าจึงตั้งชื่อว่า บึงกาฬ

บึง สัญลักษณ์ของ บึงกาฬ

และนี่คือบ้านผมครับ อยู่ติดริมบึงเลย จริงๆแล้วเป็นบ้านหลังใหม่ที่แม่สร้างให้ยาย หลังเดิมที่ผมเคยอยู่ก็ต้องถูกทุบทิ้งไปโดยปริยาย

บ้านเก่าที่เคยอยู่

เดินชมวิวริมบึงอยู่สักพักก็รู้สึกหิว ยายผมท่านทานอาหารเช้าไปก่อนแล้วครับ ส่วนผมตื่นสายก็เลยต้องไปของกินเองที่ตลาดในเมืองและก็จะได้ซื้อของกินมาเผื่อยายด้วย

ตลาดบึงกาฬ

ตลาดบึงกาฬ ตอนแปดโมงเช้าไกล้จะวายเต็มทีแล้ว ขอขายก็เลยไม่เยอะสักเท่าไร แต่ก็ยังพอหาของกินได้ และนี่ก็คือมือเช้าของผมครับ แกงเส้น เป็นอาหารตำหรับชาวไทยเชื้อสายญวน หน้าตาคล้ายก๋วยเตี๋ยวแต่ใช้วุ้นเส้นแทนเส้นก๋วยเตี๋ยว บนโต๊ะจะมีกะปิและพริกอ่อนเป็นเครื่องเคียง(เอ หรือเครื่องปรุงหว่า ชักไม่แน่ใจ) ผมจัดไปหนึ่งถ้วยบวกกาแฟเย็นชื่นใจอีกหนึ่งแก้ว เช้านี้ผมรอดแล้วล่ะ ^ ^

แกงเส้น อาหารพื้นถิ่น

พอกลับถึงบ้าน รถจากวัดก็มารับพอดี ผมออกเดินทางไปวัดศรีบุญเรือง (วัดที่หลวงลุงจำวัดอยู่)ภ พร้อมผู้เฒ่าสองพี่น้อง ยายหวัน(เสื้อสีเทา ยายผม) ยายหมั่น(เสื้อสีฟ้า น้องยาย) ด้วยที่นั่งท้ายกระบะครับ

ยายมั่น และ ยายหวัน

รถวิ่งผ่านตัวเมืองบึงกาฬ ก่อนจะส่งเข้าสู่เส้นทางที่ลัดเลาะริมโขง

รถมุ่งหน้าไปทางริมโขง

ผ่านทุ่งนาข้าวริมโขงที่กำลังตั้งท้อง

ทุ่งข้าวระหว่างทาง

ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวเหนียวครับ เพราะอิสานเหนือส่วนใหญ่จะทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก

ถัดจากทุ่งข้าวคือแม่น้ำโขง

หลวงลุงผมนั่งรออยู่ก่อนแล้ว ท่านเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้ หน้าตาท่านดูเอิบอิ่มด้วยรอยยิ้มเมื่อเห็นแม่และหลานชายมาหา พร้อมเตรียมอาหารเพลมาถวาย และตอนที่ผมไปถึงก็เกือบจะถึงเพลพอดีครับ

หลวงลุง ท่านมรณภาพไปนานแล้ว

วัดศรีบุญเรือง เป็นวัดที่อยู่ใน ตำชัยพร จังหวัดบึงกาฬ (ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่าอยู่ในอำเภออะไร) วัดนี้เป็นวัดป่าครับ ต้นไม้ดูร่มรื่นน่าปฏิบัติธรรมมาก

บรรยากาศเดิม ๆของวัดศรีบุญเรือง หรือวัดป่าเมืองเหือง ซึ่งตอนนี้น่าจะมีแต่สิ่งปลูกสร้าง

มีศาลาให้ญาติโยมนั่งพักริมแม่น้ำโขงด้วย สถานที่จริงวิวสวยงามมาก

ศาลาริมวัดป่าเมืองเหือง ซึ่งไม่น่าจะอยู่แล้ว

วันนี้มีชาวบ้านญาติโยมแถวนั้นมาทำบุญตักบาตรเพลด้วยกันสองสามคน ซึ่งก็เป็นปกติของที่นี่ครับ ลืมบอกไปว่าตอนนั้นมีพระอยู่ที่วัดแค่ 2 รูปและมีผู้ปฏิบัติธรรม 1 ท่าน

ดอดไม้ที่นำมาถวายพระ

เหลือบไปเห็นเท้าของยายเหี่ยวย่น

ฝ่าเท้ายายหวัน

เป็นสัจจะธรรมที่หลีกหนีไม่พ้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ว่าใครจะยิ่งใหญ่เพียงไรก็หนีไม่พ้นกฏนี้

ฝ่ามือยายหวัน

อันนี้คือเจ้าตูบ ทหารยามในวัดครับ

เจ้าน้องหมาวัด

อ่าๆๆๆ ยายผมท่านเป็นคนที่รักการอ่านครับ นั่นบทความ Macromedia Director MX

ยายหวันอ่านหนังสือทำเว็บไซต์

แมงกว่าง หรือที่บ้านผมเรียก แมงคาม ตอนเด็กๆ ผมจับมาเล่นบ่อยๆ ตอนนี้ก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างยังไม่สูญพันธุ์ครับ

แมงคามหรือด้วงกว่าง ซึ่งหายากเต็มที

เอามาถ่ายรูปแล้วก็แอบเอาไปปล่อยในป่าซะเลย น้องคนนี้หาไม่เจอหรอก ฮ่าๆ

สาวน้อยกำลังสนใจด้วงกว่าง

หลวงลุงเล่าว่าแต่ก่อนวัดศรีบุญเรืองแห่งนี้เคยเป็นวัดเก่าโบราณหลายร้อยปี ดังจะเห็นได้จากหินทรายสลักรูปแปลกมากมาย

ซากวัดเดิมทำให้รู้ว่า วัดป่าเมืองเหืองเป็นวัดเก่าริมโขง

หินสลักเป็นรูปพระก็มีครับ

ซากวัดเดิมทำให้รู้ว่า วัดป่าเมืองเหืองเป็นวัดเก่าริมโขง

ผมเกือบจะได้อ่านประวัติของวัดศรีบุญเรืองจากหนังสือเล่มนี้ แต่เวลาไม่พอ และที่นั่นก็มีเล่มเดียวด้วย จึงไม่ได้ยืมหลวงลุงมาอ่าน

ประวัติของวัดป่าเมืองเหืองที่มีอยู่น้อยนิดในเล่มนี้

พอตกบ่ายแก่ๆ ก็เดินทางกลับบ้านด้วยรถกระบะสุดหรูเหมือนขามาครับ

พาสองยายกลับบ้าน

เห็นรูปยายแล้วก็อดคิดถึงไม่ได้ภ กลับบึงกาฬครั้งนี้ผมได้ถ่ายรูปและอัดวิดีโอท่านไว้ด้วย เวลาคิดถึงก็จะมาเปิดดูครับ

และEntryตอนแรกก็ได้จบลงแล้วครับ พรุ่งนี้จะมาเขียนตอนสองต่อ สวัสดีครับ

บทความโดย

Orange Smallfish

Comments

comments

One thought on “กลับบ้าน จังหวัดบึงกาฬ ตอน 1

  1. เรา..ก้อคนบึงกาฬนะ
    บ้านอยู่ใกล้ๆ กันแหล่ะ..
    ถ้า..บอกชื่อ..ก้อคงจำกันได้นะ

Comments are closed.