บทความดีๆ จากปี 2002

(ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณ)

เห็นท่าน Webmaster จั่วหัวไว้ ผมก็เลยแห่ตามด้วยซะเลย เพราะงานที่ทำก็เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง และพึ่งผ่านเทศกาลชมบั้งไฟพญานาคไปหมาดๆเมื่อวานนี้(21 ต.ค.45) ซึ่งขึ้นมา ประมาณหลายร้อยดวง ส่วนหนังเรื่อง 15ค่ำเดือน 11 ผมก็ได้ไปดูมาแล้วเหมือนกัน เป็นหนังไทยที่ดีมากเลย ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเป็นญาติกับทีมงานของหับ โห้ หิ้น ซึ่งเป็นทีมสร้าง และที่มีหลายคนบอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นการลบหลู่ความเชื่อของคน ถึงกับมีความพยายามจะแบนหนังเรื่องนี้นั้น เท่าที่ดูมาก็ไม่เห็นมีการลบหลู่อะไรทั้งสิ้น เป็นหนังที่เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา และส่งเสริมรักษาสภาพแวดล้อม อันนี้ต้องไปพิสูจน์

ปรากฎการณ์บั้งไฟพญานาคนั้น หลักๆก็คือว่ามีลูกไฟลอยพุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขง ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้รับการยืนยันว่ามีมาเป็นร้อยปีแล้ว ซึ่ง รมต.พินิจ จารุสมบัติ ซึ่งเป็นรมต.จากภาคอิสานให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่า เคยสอบถามชาวประมงพื้นบ้านในลำน้ำโขง ยืนยันว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเกือบตลอดทั้งปี และเกิดขึ้นหลายที่ ซึ่งตัวผมเองเคยได้ยินบางคนเล่าว่าที่แม่น้ำมูน ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงก็เคยมีเหตุการณ์นี้ แต่พอมีการสร้างเขื่อนปากมูลก็หายไป ซึ่งอันนี้คิดว่าน่าจะเป็นความเห็นของผู้คัดค้านเขื่อนปากมูลมากกว่า อย่างไรก็ตามเขื่อนปากมูลก็น่าจะมีการทบทวนจริงๆ อย่างไรก็ตามก็เป็นที่รับทราบกันดีว่าบั้งไฟพญานาคจะเกิดขึ้นมากที่สุดที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และวันที่เกิดมากที่สุดคือช่วงวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 นั่นเอง ซึ่งปรากฎการณ์นี้ ยังไม่มีใครสามารถสรุปได้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ โดยมี3ทฤษฎีที่พยายามอธิบาย คือ 1.คนทำขึ้น ซึ่งก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกันที่ทุ่มทุนกันขนาดนั้นมาเป็นร้อยปี ซึ่งต้องใช้กำลังคนมากมาย และใช้เทคโนโลยีระดับสูงซึ่งถึงแม้ในปัจจุบันก็ยังทำได้ยากนัก ทฤษฎีที่ 2 เชื่อว่าเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่เกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่สะสมกันอยู่ในลำน้ำโขง ก็ให้เกิดแก๊สประทถขึ้นและสันดาปกับอากาศเป็นลูกไฟขึ้นมา และอีกทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อถือกันเป็นส่วนใหญ่คือ เป็นการกระทำของพญานาคในแม่น้ำโขงเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

พูดถึงพญานาค พวกเราคนไทย และชนชาติ 2 ฝั่งลำน้ำโขงมีความไกล้ชิดกันอย่างดี เพราะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นศาสนาที่เป็นที่นับถือของประเทศในแถบนี้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดได้ว่าสูงส่งกว่ามนุษย์ เพราะเป็นผู้ปกป้องสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวอย่างคือ จะใช้ร่างกายบังแดดบังฝนให้ ขณะทรงประทับบำเพ็ญเพียร สามารถแปลงร่างได้เป็นได้ทั้งคน และทั้งสัตว์ มีอิทธิฤทธิ์ มากมาย สร้างอารยธรรมได้ โดยเมืองใหญ่ๆหลายเมืองในแถบนี้นั้น ก็ล่ำลือกันว่าพญานาคเป็นผู้สร้าง ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างก็เป็นเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมา ตามวรรณกรรม ตามจิตรกรรมต่างๆ หรือสถาปัตยกรรมต่างๆ ยังไม่เคยมีผู้ใดพบเห็นตัวจริงที่เป็นหลักเป็นฐานที่ชัดเจนนัก ว่าหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่ ซึ่งหลายท่านอาจจะคุ้นตากับ ภาพถ่ายของทหารอเมริกันกลุ่มหนึ่ง กำลังอุ้มสัตว์ชนิดหนึ่งคล้ายปลาไหลที่มีตัวยาวและใหญ่มาก มีหงอนด้วย แล้วอ้างว่าเป็นพญานาคจากแม่น้ำโขง ซึ่งภาพนั้นนักวิชาการหลายท่านได้ยืนยันแล้วว่าสัตว์ในภาพเป็นปลาทะเลชนิดหนึ่งที่หายากมาก และภาพนี้ก็ไม่ได้ถ่ายที่แม่น้ำโขง

ลักษณะของพญานาคตามความเชื่อของคนไทย ภาพนี้ถ่ายตอนงานเอเชี่ยนเกมส์เมื่อครั้งที่ไทยเป้นเจ้าภาพ

พญานาค ในความเข้าใจของพวกเรานั้น มีรูปร่างคล้ายงูยักษ์ที่หัวมีหงอนที่มีลักษณะคล้ายมงกุฎครอบไว้ โดยสันนิษฐานจากภาพวาด ภาพเขียน ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับงูยักษ์นั้น ก็มีรายงานการพบเห็นหลายแห่ง แต่ที่น่าเชื่อถือมากที่สุดเพราะคนพบเห็นมีความน่าเชื่อถือ จะพบทางทะเลแถบตะวันตก โดยจากหนังสือ โลกลี้ลับ เขียนโดยอาเธอร์ ซี คลาร์ก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลี้ลับที่มีชื่อเสียง เรียบเรียงโดยบัวแก้ว ไชยหลวงผา บันทึกไว้ว่า “ในปี คศ.1848 มีข่าวครึกโครมจากการรายงานของหนังสือ The Time ว่ากัปตันเรือรบส่วนพระองค์ที่มีขนาดใหญ่…..ชื่อ เดดาลัส เขาได้รายงานให้ท่านลอร์ดผู้หนึ่งแห่งกระทรวงกองทัพเรืออังกฤษได้ทราบว่า เขาได้เห็นงูทะเลในระหว่างทางไป อีส อินดี้ โทรเลขจากกัปตัน ปีเตอร์ แม็คไควห์เล่าว่าเขาได้เห็นสัตว์ประหลาดนี้ในระยะใกล้มาก เป็นเวลา 20 นาที”ถ้ามันเป็นคนที่ผมคุ้นเคย ผมต้องจำส่วนต่างๆของมันอย่างง่ายดายด้วยตาเปล่า มันว่ายไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้โดยไม่ได้หันเหเส้นทางเลย มันใช้ความเร็ว 12-15 ไมล์ต่อชั่วโมง ดูเหมือนมันจะมีเป้าหมายอย่างชัดเจน” ความรวดเร็วเหมือนกับรายละเอียดที่แม็กไควห์บอกมา กลายเป็นลักษณะพิเศษของสัตว์ประหลาดเช่น หัวเหมือนงูขนาดใหญ่ที่ยื่นเหนือน้ำ 1.2เมตร “ซึ่งไม่ได้ดำลงใต้น้ำเลยตลอดเวลาที่มันอยู่ในสายตาเรา”บางสิ่งที่คล้ายแผงคอของม้าระอยู่ที่หลังของมันคาดว่าอย่างน้อย ๑๘ เมตร” นอกจากนั้นแล้ว อาเธอร์ ซี คลาร์ก ยังบอกอีกว่า เรื่องงูยักษ์เป็นเรื่องราวเก่าแก่ของทางสหรัฐฯเขา โดยในช่วงตั้งแต่ปี 1817 เป็นต้นมา มีบุคคลที่เชื่อถือได้พบมันทุกฤดูร้อน นอกชายฝั่งทางตะวันออก แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานเป็นรูปถ่าย หรือซากปรากฎให้พบเห็น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพญานาคจะมีตัวตนอยู่หรือไม่ ผมก็ขอขอบคุณพญานาคเป็นอย่างสูง ที่ช่วยพิทักษ์รักษาธรรมชาติอันสมบูรณ์และลึกลับในลำน้ำโขงมาเป็นเวลายาวนาน เพราะหากคนเรายังสังวรณ์ว่าแม่น้ำโขงมีพญานาคพิทักษ์รักษาอยู่ คนก็ยังคงไม่กล้าเข้าไปทำอะไรเปรอะเปื้อนในลำน้ำโขงมากนัก เช่นเดียวกับในพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีเจ้าป่า เจ้าเขาพิทักษ์อยู่ แต่พวกเราก็อย่านิ่งนอนใจเพราะบางที่เจ้าป่าเจ้าเขาก็พ่ายแพ้ต่อรถไถ และเลื่อยยนตร์ ของนายทุนและนักการเมือง(บางคน)ที่เห็นแก่ได้จนป่าหมดไปหลายที่ไปนักต่อนักแล้ว ดังนั้น เราต้องรวมกำลังกันช่วยเหลือพญานาคในการพิทักษ์ลำน้ำโขงอีกแรงหนึ่ง

เป็นที่น่าสังเกตุว่าบ้านเราก็จะใช้ปรากฎการณ์นี้เป็นเครื่องดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันเราก็จะมีโครงการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขง เพื่อพัฒนาเส้นทางเดินเรือ อย่าลืมว่าที่ๆจะเกิดบั้งไฟพญานาคต้องเป็นบริเวณที่ธรรมชาติไม่โดนรบกวน หากระเบิดแก่งสายน้ำเปลี่ยน ธรรมชาติเปลี่ยน ก็ไม่รับประกันเหมือนกันว่าพญานาคจะยอมทำบั้งไฟอีกหรือไม่ และเมื่อเดินเรือได้สะดวก เรือใหญ่ๆเพิ่มมากขึ้นมารบกวน ถ้าพญานาคมีจริงก็คงต้องหนีเตลิดไป แต่ถึงไม่มีพญานาค แม่น้ำโขงก็ยังมีสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์หลายชนิด อย่างปลาบึกที่เอ่ยถึงไปแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมี โลมาอิรวดี ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในน้ำชนิดนี้ ที่เราคุ้นเคยว่ามันอยู่ในทะเล แต่ในระบบนิเวศแม่น้ำอย่างแม่น้ำโขงก็มีโลมาอยู่เหมือนกัน และทางสมาคมอนุรักษ์นกฯยังได้รายงานว่ามีการพบนกชนิดใหม่ในลำน้ำโขง คือ นกเด้าลมแม่น้ำโขง และการท่องเที่ยวถ้ามีการจัดการที่ไม่ระมัดระวัง โดยโหมโปรโมตเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินกว่าพื้นที่จะรองรับได้ก็จะเป็นโทษเหมือนกัน เพราะขยะจะเพิ่มขึ้นเสียงจะดังขึ้น และพื้นที่ชายฝั่งก็จะมีการก่อสร้างอะไรต่างๆเพื่อรองรับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น อันนี้เป็นความเห็นของผมนะ จากการได้ดูเทปบันทึกภาพบั้งไฟพญานาค พบว่าจะเกิดขึ้นใกล้ทางฝั่งลาวมากกว่า อาจจะเป็นเพราะว่าทางฝั่งลาวไม่มีสิ่งปลูกสร้างอะไรมากมายที่ไปรบกวนสภาพธรรมชาติ

ดังนั้นขอสรุปในมุมมองส่วนตัวของผมว่า ถ้าต้องการให้บั้งไฟพญานาคอยู่คู่แม่น้ำโขงต่อไป ต้องรักษาสภาพแวดล้อมในลำน้ำโขงให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นการรักษาปรากฎการณ์มหัศจรรย์ที่หาที่อื่นได้ยากในโลกแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือสัตว์ป่าพิศดารต่างๆให้อยู่รอดปลอดภัย และผลประโยชน์จะตกกับมนุษย์เองในที่สุด

งูทะเลยักษ์ที่ถูกพบโดยเรือฟริเกต เดลาลัส ระหว่างแหลมกู๊ดโฮป และ เซนต์เฮเลนาในวันที่ 6 สค 1848(ภาพจากหนังสือโลกลี้ลับโดย อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก เรียบเรียงโดยบัวแก้ว ไชยหลวงผา ,พิมพ์ ครั้งที่4 โดยสำนักพิมพ์เดลฟี)

โลมาอิรวดี อีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ในลำน้ำโขง
ภาพจากกรมปร
ะมง

ที่มาภาพประกอบ(ภาพแรก) : www.garudathailand.com

บทความโดย

Day Walker

Comments

comments

Comments are closed.