บทความดีๆ จากปี 2002


เย็นวันหนึ่งหลังจากที่ผมเดินทางกลับมาจากออกพื้นที่ พี่ชายตัวดีของผมโทรมาบอกว่าเจอรังนกอะไรไม่รู้มาทำรังที่ร้าน (พอดีผมมีร้านขายต้นไม้มีทั้งไม้ดอก ไม้ผล สมุนไพร และอื่นๆ ผมไม่ได้ค่าโฆษณานะwebmaster ) ผมก็เลยว่านกอะไรเหรอ ที่มาทำรังอยู่ในนั้น พี่ชายก็บอกมาทางโทรศัพท์ว่า “ไม่รู้ต้องเอ็งต้องมาดูเอง” ด้วยความสงสัยเช้าวันรุ่งขึ้นผมพอเลิกงานก็นั่งรถสองแถวไปที่ร้าน

ความจริงบ่อยครั้งที่ผมเดินไปที่แบบว่าเดินดูนกไประหว่างทางมันไม่ไกล แต่ด้วยความใจร้อนจึงรีบไป พอไปถึงที่ร้านก็เจอรังเปล่าๆไม่มีอะไร รูปรังเป็นรูปถ้วยทำรังอยู่ในกระถางกล้วยไม้ แปลกดีไม่เคยเจอผมเลยบอกพี่ชายว่าให้ดูแม่นกแล้วจะมาถาม ถัดไปอีกไม่นาน พี่ชายเขาก็โทรมาบอกว่าเจอแล้ว เป็นไข่แล้ว 2 ฟอง ผมกลับมาจากเก็บข้อมูลไม่รอช้าคว้า Canon ตัวโปรดพร้อมเลนส์ รับไปที่ร้าน เห็นไข่นก 2 ฟองสีเนื้อมีจุดสีน้ำตาลแดงทั่วทั้งใบ และหลังจากนั้นผมซุ่มรอให้แม่นกเข้ามากกไข่เสียดายที่ถ่ายไม่ได้ แม่นกที่เข้ามากกไข่ก็คือ นกปรอดสวน ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pycnonotus blanfordi Jerdon ,1862 หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Streak-eared Bulbul เท่าที่เคยอ่านศึกษามาพบว่ามีนกปรอดทั้งโลกมีประมาณ 40 กว่าชนิดซึ่งพบในไทยประมาณ 20 ชนิด(โอภาส,2545) ตามปกติจะทำรังตามต้นไม้ผลต่างๆ เช่น ขนุน กระท้อน ชมพู่ มะม่วงและต้นข่อย นั่นเองเวลาผ่านไปประมาณ 10 วันลูกนกก็ออกมาลืมตาดูโลก ทั้งสองตัว

ผมเสียดายที่ไม่ได้เก็บภาพไว้ พยายามที่จะถ่ายรูปทั้งแม่และลูกก็ไม่ได้สักที เวลาผ่านไปอีก 4-5 วันพี่ชายบอกว่าขนนกขึ้นแล้วแต่ลูกนกหายไปตัวหนึ่ง ผมตกใจมากหลังจากเลิกงานก็รีบมาดูพบว่าลูกนกขนสีดำทั้งตัว ไม่เหมือน ทางพ่อและแม่นกเลยและตัวใหญ่เกินไป สงสัยว่าอาจจะมีใครมาฝากไข่ให้ฟัก ก็น่าจะเป็นไปได้เพราะว่าได้ยินเสียงนกกาเหว่าร้องอยู่ไม่นาน ฉุกคิดในใจว่าไม่เป็นไร ต่อไปเราจะต้องเฝ้าดูทุกวัน


หลังจากหมดเทศกาลสงกรานต์ผมกลับไปที่ร้านอีกครั้ง คราวนี้พกกล้องไปด้วยแต่พี่ชายบอกผมว่าลูกนกไปแล้ว ผมถามว่าไปไหนเหรอ พี่ชายบอกว่าลูกนกไปเที่ยวแล้วมีงูมารับไปอุปการะ ซึ่งพี่ชายเห็นงูเลื้อยออกไปจากรัง โดยที่รังปราศจากร่างของลูกนก ผมยังทำใจอยู่ว่าขอให้ลูกนกนั้นรอดเพราะว่าน่าจะหัดบินได้แล้วแต่ยังไงมันก็ยังเป็นไข่นกปริศนาถึงวันนี้ว่า แท้จริงแล้ว ลูกนกตัวนี้เป็นลูกใคร??? นี้คงไม่ใช่คำถามและคำตอบสุดท้ายน่ะ


(โอภาส ขอบเขตต์.2545. นกในเมืองไทย เล่มที่ 5 สำนักพิมพ์สารคดี กรุงเทพฯ)

บทความโดย

นายนกขมิ้นน้อยธรรมดา

Comments

comments

Comments are closed.