12.30 น. อาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน 2551
สารภาพอีกครั้งครับว่าผมไม่ได้เตรียมการมาก่อนว่าจะต้องเก็บข้อมูลและรายละเอียดการเดินธรรมยาตราในครั้งนี้ ดังนั้นข้อมูลหลายอย่างในบทความของบล็อคแห่งนี้จึงอาจจะไม่ตรงเป๊ะเสียทีเดียวโดยเฉพาะ ชื่อสถานที่ ชื่อสิ่งของ หรือชื่อคน และชื่อวัดที่พวกเราได้พักในค่ำคืนนี้ก็เช่นเดียวกันครับ จึงต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ครับผม
เมื่อคณะธรรมยาตราเดินทางมาถึงที่วัดที่เป็นที่พักในค่ำคืนนี้ ทุกคนก็เร่งจัดเตรียมพี่พักกันและสถานที่ทำกิจกรรมกันครับ ระหว่างที่กำลังกางเต๊นท์อยู่นั้นก็เหมือนจะได้ยินเสียงน้ำตกดังอยู่ไม่ไกล ซึ่งก็ปรากฏว่ามีน้ำตกเล็ก ๆที่ไหลมาจากฝายในหมู่บ้านนั้นเองครับ น้ำไหลแรงพอประมาณน่าเล่นมาก แต่เดี๋ยวก่อนครับตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา ไว้ตอนดึก ๆค่อยมาแอบเล่นดีกว่า ไม่อยากโชว์พุงกระทิสักเท่าไหร่ ฮาาา
ผมได้นัดหมายพี่ตุ้มกับปุกปุยไว้แล้วล่ะครับว่าคืนนี้เราจะมาอาบน้ำที่นี่กัน แต่ก่อนหน้านั้นพี่ตู้มาบอกว่าจะขอแรงไปช่วยขนเอากับข้าวสำหรับคณะธรรมยาตราที่วัดป่าสุคะโตกันก่อน แม่ครัวที่โน่นได้จัดเตรียมเอาไว้บางส่วนแล้ว ว่าแล้วเราก็ขนสมัครพรรคพวกกันไปสี่ห้าคนและก็บึ่งไปวัดป่าสุคะโตโดยทันที
การขนหม้อที่มีแกงจืดมากับรถกระบะไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อให้ปิดฝาหม้ออย่างไรมันก็กระเซ็นครับ ปุยบอกว่าถ้าแกงเต็มหม้อยิ่งจะควบคุมลำบาก เดชะบุญระดับของน้ำแกงเลยกึ่งกลางของหม้อมาหน่อยเดียว ทว่าสถานะการณ์ก็ไม่ได้ดีอย่างที่ผมหวังไว้ เพราะพี่ตู้สารถีของเรา ได้สวมวิญญานดอมเดอะฟาสต์ขับกระบะฝ่าถนนลูกรังที่มีหลุมเล็กหลุมใหญ่มากมาย น้ำแกงจืดรสอร่อยก็เลยกระจายใส่กางเกง (ที่ผมตั้งใจจะใส่สักสามวัน) ซะเต็มเหนี่ยว เหนียวเหนอะทรมานมาก ขอบอก
ท้ายที่สุดพวกเราก็สามารถรักษาน้ำแกงจืดให้อยู่ในปริมาณที่เพียงพอแก่คณะได้สำเร็จ แต่ผมกลับต้องรีบลงไปแช่น้ำตกจนน้อง ๆ ในคณะธรรมยาตราอดสงสัยไม่ได้ว่าผมไปอึใส่กางเกงที่ไหนมารึป่าว แช่อยู่นานพอควรครับ ตั้งใจว่าจะแช่เอาแค่ไม่เหนียวเหนอะ ไว้ดึก ๆ ค่อยมาเล่นน้ำตกแบบจริง ๆจัง ๆอีกรอบ
หลังจาก ผม พี่ตุ้มและเจ้าปุกปุยอาบน้ำตกกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ขึ้นไปทำวัดเย็นกับคณะธรรมยาตราตามปกติครับ จุดเด่นของกิจกรรมในคืนนี้อยู่ที่การนำเสนอวัฒนธรรมการแสดงหมอรำแบบดั้งเดิมของหมอรำชั้นครูประจำตำบลครับ พวกท่านเป็นศิลปินรุ่นปู่ที่ยังคงถ่ายทอดศิลปะของบรรพบุรุษแก่คนรุ่นหลังในพื้นที่แถบนั้นอยู่จนถึงทุกวันนี้ และเป็นที่เคารพของคนท้องถิ่นอย่างมากด้วยครับ
เป็นการขับร้องของหมอรำแบบดั้งเดิมที่ไม่คุ้นเคย แต่ก็รู้สึกดีมาก พูดถึงความเป็นอยู่ของคนที่ต้องปรับตัว ให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็ต้องกระเสือกกระสนกับโลกใหม่ที่กำลังรุกล้ำเข้ามาทุกขณะ คงไม่ต้องเดาว่าคนต่างจังหวัดต้องดิ้นรนกันขนาดไหนกับโลกปัจจุบัน นึกแล้วก็เพลียเหมือนกันครับ
โอ้โห ช่างเป็นการเดินที่ทรหดอย่างมาก…