ในการเดินของมนุษย์เราบางครั้ง เราเดินอย่างเร่งรีบ เดินอย่างบ้าเลือด เดินอย่างเพลิดเพลิน หรือเดินอย่างทุกข์ระทม (ทั้งร่างกายและจิตใจ) หรือแม้กระทั้งเดินแบบใจลอยคิดฟุ้งซ่านไปในหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกันจนแยกไม่ออกว่ามีกี่เรื่องที่คิดกันแน่
หลายครั้งที่เราเดินอย่างมีและไม่มีจุดมุ่งหมายปลายทาง แต่ทุกย่างก้าวของเราก็รีบเร่งก้าว โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่นใดนอกจากระยะทางที่ไกลหรือสถานที่เราต้องการไปถึงจุดหมายปลายทาง แม้แต่บางครั้งลืมความเป็นตัวเป็นตนของตนเอง ลืมสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือแม้แต่ไม่ได้มองอะไรเลย จนข้อเท้าแพลงหรือประสบอุบัติเหตุ อาจจะเป็นเพราะเราเดินได้แต่ไม่มี “สติ”
ผมได้รู้จักการเดินแบบไร้สติมานานมากแล้ว จนวันหนึ่งได้เข้ามาสู่การเดินแบบมีสติ โดยเข้ามาร่วมกับ “คณะเดินธรรมยาตรา ครั้งที่ 10 ณ จังหวัดชัยภูมิ” แม้ว่าจะเป็นครั้งที่ 2 ที่ผมเข้ามาร่วมเดิน แต่ผมก็รับรู้ได้ถึงภาระอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ที่มารองรับกิจกรรมต่างๆ ของชาวโลก ทั้งที่ทำร้ายและช่วยกันรักษาโลกใบนี้
ตลอดเส้นทางผมพบกับความหมายของคำว่า “เดินอย่างมีสติอยู่กับตัวเองให้มาก และเมื่ออยู่กับตัวเองให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรระวังวาจา” ของ “พระอาจารย์ไพศาล” ที่ได้เทศน์ไว้ในตอนเช้าก่อนที่จะเริ่มเดิน เพราะเมื่อเราอยู่คนเดียวจิตใจของเราก็จะคิดฟุ้งซ่านไปหมด ผมพยายามทำสมาธิกับจังหวะของเสียงกลองในขบวน และแล้วความสงบก็เข้ามาเยือนแบบที่เราไม่รู้ตัว และสิ่งหนึ่งที่เปรียบเสมือนน้ำทิพย์มาชะโลมจิตใจของผมระหว่างเดินก็คือ ได้สัมผัสไมตรีจิตของชาวบ้านตลอดเส้นทางที่คอยบริการน้ำดื่มตลอดเส้นทาง แม้ว่าเราจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ตามชาวบ้านเหล่านั้นก็ยินดีต้อนรับและพูดคุยกับเราเหมือนลูกเหมือนหลานในครอบครัว แม้คนที่ร่วมเดินส่วนหนึ่งจะไม่ใช่คนในพื้นที่ก็ตาม สำหรับตัวผมเองก็ดื่มน้ำเหล่านั้นเข้าไปไม่ใช่น้อย (ผลที่ตามมา คือ “ยางแตก” (ฝ่าเท้าพองทั้งสองข้าง) “เกียร์ 4 พัง” (นิ้วนางข้างซ้ายของผมแพ้แตก) แต่ถึงที่พักผมก็ได้รับน้ำใจไมตรีจากนางฟ้าใจดีหลายคนทั้ง “เสื้อกราวน์ (แพทย์) และหมวกขาว (พยาบาล)” มาทำแผลให้ ผมก็ขอขอบคุณอย่างจริงใจในครั้งนี้ด้วยครับ) นี่เป็นปฐมบทในการเดินธรรมยาตรา ครั้งนี้ของผม ยังไงก็จะพยายามนำเสนอมุมมองที่ประสบมาตลอดระยะเวลา 7 วัน 6 คืนมาถ่ายทอดให้ฟังอีกก็แล้วกันครับ
บทความโดย
ปุย – นายนกขมิ้นน้อยธรรมดา