บทความโดย : นายนกขมิ้นน้อยธรรมดา
บันทึกนี้เป็นเรื่องราวที่ได้สัมผัสมาจากประสบการณ์ตรงบนเส้นทาง ๙๒ กว่ากิโลเมตร จากเมืองเข้าสู่ป่า จากความสะดวกสบายเข้าหาความลำบาก จากที่อดๆอยากๆ เข้ามาอิ่มเอมกับธรรมชาติสองข้างทาง พบกับมิตรภาพมากมายแม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน รวมถึงน้ำเปล่าที่ใสบริสุทธิ์จากชาวบ้านตลอดเส้นทางยังไงก็ลองติดตามอ่านดูครับ อาจจะมีรายละเอียดบางอย่างที่ตกหล่นไปก็ขออภัยครับ
ตอนที่ ๑ ปฐมบทของการเดินทาง
หลายวันก่อนที่จะถึงวันเดินทางผมรู้สึกเป็นกังวลเนื่องมาจากภาระงานที่คั่งค้างและหลั่งไหลมายิ่งกว่าน้ำป่าไหลหลาก แถมส่งงานก็ไม่ทัน แต่ในความคิดของผมตอนนั้นคือ ๘ วัน ของการเดินธรรมยาตรา คือ วันพักสมอง วันพักพักใจ และวันที่อยู่กับตัวเอง คิดเท่านี้ก็มีแรงฮึดในการทำงานต่อ แม้ว่าจะนอนดึกมาหลายคืนแถมบางคืนก็สว่างคาตา หรือแถวบ้านผมเรียก “ซ้อดแจ้ง” ภายในใจก็จดจ่อให้ถึงวันนั้นเร็วๆ แต่งานก็ต้องส่งเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน เห็นไหมไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่ต้องเสียอะไร บรรดาพี่น้องผองเพื่อนของผมก็ถามว่าผมจะไปเดินครั้งนี้จริงไหม (ถามทำไม?) จะเดินไหวเหรอมันไกลนะ เนี่ยเธอไปมาแล้วกี่ครั้งแล้ว แถมจะกินจะนอนอย่างไร เขามีกิจกรรมอะไรบ้างหล่ะ ถ้าจะไปสมทบต้องทำอย่างไร จากหลากหลายคำถามที่พูดมา ผมได้แต่ตอบคำถามพวกเขาเหล่านั้นว่า “ต้องลองมาเดินดู” และให้รายละเอียดทั้งแผ่นพับแนะนำกิจกรรมให้ดูทั้งหมด แต่แล้วด้วยภาระหน้าที่ของแต่ละคนที่มีรายละเอียดและความซับซ้อนไม่เท่ากัน พอใกล้ถึงวันก็ไม่มีใครไป ได้แต่ส่งกำลังใจและบริจาคเสื้อผ้ามือสองกัน ผมว่าอันนี้ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีซึ่งปีหน้าเราอาจจะได้เพื่อนเดินร่วมทางเพิ่มขึ้นอีก หวังว่าคงจะเป็นเช่นนั้น “จะขออะไรมากไปหรือเปล่า” และแล้ววันนั้นก็มาถึง
เช้าวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
เสียงดัง “โครม” เป็นเสียงของหัวโขนและภาระงานที่แบกไว้ทุกๆวัน ได้ถูกกึ่งโยนกึ่งวางไว้ในห้องทำงาน ตัวผมพร้อมกับกระเป๋าสัมภาระใบโตได้ก้าวเดินออกมาจากห้องพักในที่ทำงาน และพร้อมที่จะออกไปเผชิญกับประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นครั้งที่ ๓ ที่จะเข้าร่วมเดินธรรมยาตราแต่ประสบการณ์ชีวิตที่ได้ไม่เคยซ้ำเลยแม้แต่ครั้งเดียว สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผมได้เพื่อนใหม่ต่างวัยเกือบ ๓๐ ชีวิต เป็นคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาลโนนชัย ซึ่งทั้งหมดจะเดินจนครบทั้ง ๘ วัน สำหรับรถที่เรานั่งเป็นรถบรรทุก ๖ ล้อ เป็นแบบ open air คือ อากาศเปิดโล่งเข้าได้ทุกทิศทางเย็นสบาย ยกเว้นช่วงที่มีฝุ่น บรรยากาศเหมือนไปทำค่ายสิ่งแวดล้อมตามสถานที่ต่างๆ สมัยเรียนหวนกลับมาอีกครั้ง
แต่แล้วความคิดถึงอดีตก็ต้องดับวูบลงเพราะรถจอดแวะปั๊มน้ำมัน แวะพักรถและเข้าห้องน้ำ ต่างคนต่างทำภารกิจส่วนตัวเสร็จแล้วก็เดินไปรวมตัวกันในร้านสะดวกซื้อ เด็กๆ ก็ตุนเสบียงกันยกใหญ่ ส่วนผมก็น้ำเปล่า ๑ ขวดกับกาแฟเย็น ๑ แก้ว หลังจากที่คุณครูได้ปล่อยเสือเข้าป่า(ร้านสะดวกซื้อ)แล้ว ถึงคราวต้องไล่ต้อนเสือเหล่านั้นกลับรถ ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะครบ ก่อนที่รถจะเริ่มเคลื่อนตัวออกมาจากปั๊มน้ำมันบรรดาเสือหิวทั้งหลายก็ได้จัดการขนมและอาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อท้องอิ่มแล้วภารกิจต่อไปคือ นอน เข้าทำนอง “วัยกำลังกินกำลังนอน” เด็กๆ ต่างก็สลบไสลหลับพักผ่อนเอาแรง บางคนก็หลับแบบไม่กลัวเจ็บ คือ นั่งสัปหงกตกเก้าอี้ ดีที่ว่ามีกระเป๋ารองรับไม่งั้นต้องออกอาการ “ตาสว่าง” แน่ๆ แม้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมงจากขอนแก่น-ชัยภูมิอาจจะดูยาวนาน แต่เมื่อมองในรายละเอียดทั้งภายในรถและระหว่างทางแล้วทำให้จิตใจของผมสงบขึ้นอย่างบอกไม่ถูกไม่รู้เป็นเพราะอะไร
เมื่อไปถึงจุดหมายที่รวมพล คือ วัดบ้านช่อระกา ก็ได้พบผู้เข้าร่วมเดินธรรมยาตราทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่เต็มไปหมดทั้งที่เป็นฆราวาสแม่ชี และพระสงฆ์ ความรู้สึกในตอนนั้นเหมือนว่าเราได้พบเพื่อนสนิทที่ไม่ได้เจอกันมานาน ทั้งๆ ที่เราและเขารู้จักกันแค่ในบางมุมหรือพึ่งได้รู้จักกันเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญแต่อย่างใดเพราะว่าพวกเรามี “เป้าหมายเดียวกัน” หลังจากที่ได้ลงทะเบียนเสร็จ ก็เดินออกไปหาที่กางเต้นท์ ได้สถานที่เหมาะมากคือ ข้างโบสถ์ ห่างไกลจากผู้คนพอสมควรเพราะผมมีความสามารถพิเศษ คือ “เรือกลไฟบวกโรงสีข้าว” ในเวลาหลับแบบว่าก็เกรงใจคนอื่นเขาเหมือนกัน เมื่อกางเต้นท์เสร็จก็รอเพื่อนๆ คือ พี่นกฮูก เจ้าเต่า เจ้ารัก และหนูส้ม ที่กำลังเดินทางมากันจากกรุงเทพฯ ระหว่างนั้นก็มีผู้เข้าร่วมฯที่หลากหลายทั้งวัยและเพศได้เดินทางมาสมทบทั้งที่มาโดยรถส่วนตัว รถตู้ หรือบางคนเหมาสามล้อเครื่องมาจากสถานีขนส่ง รวมทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านก็มาร่วมทำวัตรเย็นด้วยกันทำให้บรรยากาศในวัดดูคึกคักขึ้นมาในทันที หลังจากทำภารกิจส่วนตัวเรียบร้อยก็ถึงเวลากินมื้อนี้เป็นผัดไทย น้ำเต้าหู้ ขนมถังแตก อิ่มเต็มที่เหมือนกัน และมีเสียงประชาสัมพันธ์ว่าปีนี้ เราสามารถแบกกระเป๋าเองได้ หรือถอดรองเท้าเดิน หรือถือศีล ๘ งดทานอาหารมื้อเย็น พอได้ฟังแล้วความคิดที่นอกกรอบของผมก็ปรากฏขึ้น ตั้งใจว่าจะทำทั้งสามอย่างในปีนี้ (จะได้หรือไม่ต้องติดตามตอนต่อไป)
หลังจากที่ทำวัตรเย็นเสร็จแล้วผมก็ไปช่วยเตรียม “ป้ายชื่อ” ที่ปีนี้ทำหรูมากกว่างานสัมมนาระดับชาติบางที่เสียอีก ทำไปเรื่อยๆ จนเวลาล่วงเลยไปถึงตี ๒ พวกเราจึงได้แยกย้ายเข้าพักผ่อนแล้วพรุ่งนี้เช้าค่อยเจอกันใหม่ ราตรีสวัสดิ์ครับพี่น้อง
วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓
“ป๊อกๆๆๆๆ” เสียงเคาะเกราะที่ทำจากไม้ไผ่ได้ดังขึ้น โดยฝีมือของ “อาจุล” เป็นสัญญาณที่บอกให้พี่น้องชาวธรรมยา ตราได้ทราบว่าได้เวลาตื่นนอนและเตรียมตัวทำวัตรเช้าแล้ว ผมงัวเงียลุกขึ้นมาดูนาฬิกาบอกเวลาว่าตี ๔ นี่เราได้นอนแค่ ๒ ชั่วโมงเองเหรอ ด้วยตัวขี้เกียจมากกว่าตัวขยันเราก็เลยหลับต่อจนถึง ๖ โมงเช้า จึงลุกขึ้นมาเก็บของ จัดสัมภาระแยกกระเป๋าเพื่อที่จะแบกกระเป๋าเดินตามที่ได้ตั้งใจไว้ และมีการจัดสรรหน้าที่กันสำหรับพวกเรา โดยพี่นกฮูกก็รับหน้าที่เป็นหน่วยบริการน้ำเคลื่อนที่เร็วเหมือนปีที่ผ่านๆ มา ส่วนเจ้าเต่า ส้ม และรัก รวมทั้งตัวผมเองได้รับหน้าที่คุมขบวนเหมือนทุกปีที่ผ่านมาเช่นกัน และเวลา ๙ โมงเช้า ขบวนธรรมยาตราประมาณ ๒๐๐ กว่าชีวิต ก็พร้อมที่จะเคลื่อนขบวน
ก่อนที่เราจะเริ่มเดินนั้น “ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ” ก็ได้เข้ามาร่วมเดินและอ่าน “คำภาวนาก่อนเดิน” ที่มีเนื้อหาว่า “ทุกย่างก้าวในวันนี้เราจะเดินด้วยความสงบอย่างมีสติเพื่อสันติสุขในใจเรา และเพื่อเปิดรับรู้ทุกข์สุขของสรรพสิ่งตามรายทางเบื้องหน้านี้ ขอให้สรรพชีวิตจงเป็นสุขปลอดพ้นจากภัยทั้งปวง ขอให้ทุกชีวิตเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน อยู่อย่างบรรสานสอดคล้องด้วยเมตตาต่อกัน ขอให้บุญกุศล ที่เราพร้อมใจบำเพ็ญในวันนี้ จงเป็นพลวปัจจัยให้สันติสุขบังเกิดขึ้นในท้องถิ่น ขอความบริสุทธิ์สดใสจงคืนสู่ลำปะทาวอย่างยั่งยืนยาวนานตลอดไป…..”
หลังจากนั้นพระคุณเจ้าก็สวด “ชะยันโต….” เพื่อทำจิตใจให้สงบก่อนเริ่มเดิน เมื่อพระคุณเจ้าสวดจบ “กลอง” ก็ตีให้จังหวะและแล้วการเดินธรรมยาตรา ครั้งที่ ๑๑ ก็ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ (เห็นหลายคนเล่าว่ากลองนี้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น inter น่าดูปีนี้ แถมมี ๓ ใบ ตีด้านหน้า กลางและท้ายขบวน เพื่อให้สัญญาณและจังหวะในการเดิน) รถนำขบวนที่มีเครื่องกระจายเสียงก็เคลื่อนตัวออกไป ต่อมาด้วยแถวของพระสงฆ์ ตามติดด้วยแม่ชี และฆราวาส โดยในแต่ละกลุ่มนั้นจะมีการถือธงธรรมจักรสีเหลือง ธงชาติ และธงธรรมยาตรา เป็นภาพที่งดงามยิ่ง สำหรับระยะของการเดินในวันนี้ประมาณ ๑๔ กิโลเมตร แต่แบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือ ช่วงเช้าเดินไปเพลที่วัดบ้านนาฝาย ระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร และช่วงบ่ายไปที่วัดบ้านตาดโตนเพื่อพักค้างคืนระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร โดยทั้งหมดนี้เป็นเส้นทางถนนลาดยางที่ร้อนระอุ
นอกจากภายในขบวนจะมีพี่น้องชาวธรรมยาตราที่มาจากหลากหลายจังหวัดแล้ว ก็มีนักเรียนภายในจังหวัดชัยภูมิเข้ามาสมทบกับขบวนทั้งที่มารวมตัวกัน ณ จุดเริ่มต้นและเข้ามาสมทบระหว่างทาง แต่ผมไม่มั่นใจว่าเด็กๆ เหล่านี้ได้เข้าใจวัตถุประสงค์การมาเดินธรรมยาตรานี้หรือไม่อย่างไร ถ้าไม่ก็เป็นการเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย แต่ไม่เป็นไรอย่างน้อยๆ ก็ฝึกตนในเรื่องของความอดทน สำหรับสภาพอากาศระหว่างการเดินนั้นร้อนมากเด็กๆ หลายคนเริ่มมีอาการเป็นลม “ร่วงหล่นเหมือนใบไม้ร่วง” แต่ขบวนก็ยังเคลื่อนตัวต่อไป ลำบากก็แต่คุณหมอประจำขบวน คือ “หมอตองและคณะ” ที่วิ่งแบกเป้กระเป๋าบรรจุยาวิ่งขึ้นลงเป็นว่าเล่นก็เหนื่อยมิใช่น้อยครับ แต่โชคดีของการเดินธรรมยาตราในปีนี้ที่มี “พี่หมอพยุงศักดิ์และคณะ” จากโรงพยาบาลจังหวัดชัยภูมิ เดินรั้งท้ายขบวนตามมาช่วยปฐมพยาบาลและแบ่งเบาภาระได้ แถมมี “รถ EMS” ไม่ใช่รถส่งพัสดุไปรษณีย์แบบด่วนพิเศษนะครับ แต่เป็นรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลจังหวัดชัยภูมิ ที่มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์พร้อมช่วย เหลือและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหากมีเหตุฉุกเฉินก็จะอยู่ท้ายขบวนเช่นกัน บ่อยครั้งที่ผมเรียกใช้บริการรับ-ส่งผู้เข้าร่วมและเด็กนักเรียนที่เป็นลมไปยังจุดหมายปลายทางของขบวน ซึ่งต่างจากหลายๆ ปีที่ผ่านมาที่พวกเราจะดูแลกันเอง ยังไงก็ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีหลายๆ คนที่ให้การสนับสนุนครับ
หลังจากที่ขบวนผ่านร้อนตั้งแต่เช้าจวบจนเข้าตอนเย็น ขบวนก็เคลื่อนมาถึงวัดบ้านตาดโตนเป็นที่เรียบร้อย ผู้เข้าร่วมหลายคนที่มีแบ่งตามกลุ่มสีและภาระงานก็กระจายตัวออกไปทำตามหน้าที่ๆ ได้รับมอบหมาย เช่น ขายสินค้าราคาถูก จัดนิทรรศการ อาหารและงานครัว ฝ่ายสถานที่ ฝ่ายละคร ฝ่ายคุมขบวน และฝ่ายพยาบาล ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวจะสลับปรับเปลี่ยนกันหลังจากที่เราทำวัตรเย็นเสร็จ นอกจากนั้นพี่หมอพยุงศักดิ์และคณะก็ให้บริการด้านแพทย์ทางเลือกแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผมเองก็ไปยื่นความจำนงไว้เหมือนกันแต่ก็ออกจะเกรงใจเพราะลูกค้าเยอะเหลือเกิน เอาน่ะอาการเรายังไม่เยอะเท่าไหร่เป็นวันไหนก็ได้เพราะว่าพี่หมออยู่กับเราอีกตั้งหลายวัน และผมเองก็เลยไปจัดแจงหาที่พักที่หลับที่นอน โดยผม เจ้าเต่าและหนูส้มได้กางเต้นท์นอนกัน ส่วนพี่นกฮูกและเจ้ารักก็ผูกเปลนอน เมื่อเตรียมที่พักเสร็จพวกเราก็ได้ไปรวมตัวกันที่โต๊ะสกรีนเสื้อนำโดย “พี่อิ๋ว” สาวร่างเล็กคนเก่งของพวกเรา โดยมีผู้ช่วยและสนับสนุนอย่างเป็นทางการคือ “พี่หยุม” และ “หมอตอง” ได้ดำเนินการคัดแยกจำหน่ายจ่ายแจกและสกรีนเสื้อ แต่วันนั้นเราทำได้น้อยเพราะว่าเริ่มมืดและน้ำไม่ค่อยไหล
กิจกรรมก็ได้ดำเนินไปจนเสร็จสิ้นตามเวลา ๑๗.๔๕ น. ก็ได้เวลาทำวัตรเย็น กิจกรรมกลางคืนก็ได้ “พระออสก้า” และ “รัก” เข้ามาช่วยก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบ คืนนั้นคณะทำงานก็มีการประชุมสรุปงานและชี้แจงงานในวันรุ่งขึ้น แล้วก็แยกย้ายไปเข้านอน สำหรับผมเองไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากปวดหัวเข่าเนื่องจากแบกเป้แล้ววิ่งขึ้นเนินเพื่อไปดูเด็กที่เป็นลม “สังขารไม่เที่ยงใช้เขาไปเยอะ” ก็ต้องดูแลหน่อย ดีที่เตรียมสนับเข่าและยานวดมาด้วย ต้องรีบรักษาตัวเองให้หายก่อน แต่ในคืนนั้นหากมองเผินๆ เต้นท์ผมก็ไม่มีอะไรพิเศษ แต่เจ้าเต่าเล่นเอาวิทยุสื่อสารทั้งหมดมาชารจ์แบตเตอรี่ในเต้นท์ผม รวมทั้งมือถืออีกหลายเครื่อง ไม่ได้กลัวว่าจะถูกไฟดูดนะ แต่กลัวว่าจะไปทับของเขาพังต่างหาก ที่สำคัญ “ของวัด” ด้วย แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดีครับ แล้วพรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่…….คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ครับ
บทความโดย
นายนกขมิ้นน้อยธรรมดา